ภัยออนไลน์

จากผลสำรวจที่ผ่านมา พบเด็กไทย ในวัยประถม ต้องเผชิญภัยออนไลน์สารพัดรูปแบบ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ทำการจัดเวทีเสวนา Child Grooming ล่อลวงเด็กออนไลน์ ภัยร้ายที่ต้องจบ โดยด้าน ปลัดพม. นายอนุกูล ปีดแก้ว ได้กล่าวเปิดงาน โดยมีใจความตอนหนึ่งระบุว่า เราได้ดำเนินงาน เพื่อผลักดันสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

เพื่อจะได้ปกป้องคุ้มครองเด็กๆ และเยาวชน จากภัยในการใช้สื่อออนไลน์ต่างๆ เนื่องจากในปัจจุบัน ความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่ไร้ขีดจำกัดนั้น มีแง่ลบแฝงมาด้วยเสมอ โดยจะเป็นช่องทาง ให้มิจฉาชีพ หรือผู้ไม่หวังดี ต่อเด็ก ได้มาแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก ในรูปแบบต่างๆ และในส่วนของภาครัฐ ก็ได้มีกระบวนการจัดการต่างๆ ที่แข็งแกร่งและ เป็นระบบมากยิ่งขึ้น

อีกทั้ง จัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อน การส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือ COPAT (Child Online Protection Action Thailand) เพื่อเป็นหน่วยเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยออนไลน์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน รวมทั้งประสานการดำเนินงาน ทั้งในระดับนโยบายร่วมกับหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และผลักดันมาตรการให้เกิดการปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนในการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย

ภัยออนไลน์
ผลสำรวจเด็กไทยเผชิญภัยออนไลน์

ขณะที่ ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ปี 2565 ระหว่างเดือน พ.ค. – ก.ค. 2565 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 9-18 ปี 31,965 คน พบว่า 81% มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง 64% มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน 85% ใช้โซเชียลมีเดียทุกวันหรือเกือบทุกวัน

มีการเล่นเกมอย่างหนักหน่วง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงภัยออนไลน์มากขึ้นถึง 40% ที่น่าตกใจเด็ก 36% มีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม โดยคนร้ายพยายามทำให้เด็กตกหลุมรัก ขอภาพลับ นัดพบจนนำไปสู่การละเมิดทางเพศ เข้าข่ายเป็นพฤติกรรมการเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ หรือGrooming

เด็กประถมปลายอายุ 10 ขวบ 12 % ถูกGrooming เด็ก 54% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจาร เด็ก 4% เคยถ่ายภาพ หรือ live โชว์ลามกอนาจารอีกด้วย เด็ก 11% ถูกคุกคามทางเพศ เช่น โดนคอมเม้นท์เรื่องรูปร่างหน้าตา ขนาดหน้าอกหรืออวัยวะเพศ ถูกขอให้พูดคุยเรื่องเพศ รับ-ส่งภาพหน้าอกหรืออวัยวะเพศ เด็ก 15% เคยทำ sex video call

ซึ่งเด็กป.4-6 จำนวน 4% ระบุเคยถูกคุกคามทางเพศ และ 7% เคยแลกกล้องโชว์สยิว จึงเป็นที่น่าห่วงใยว่าเด็กอาจถูกอัดคลิปแล้วนำไปแบล็กเมลรีดทรัพย์หรือนัดพบละเมิดเพิ่มเติม ดร.ศรีดา กล่าวด้วยว่า การสำรวจนี้ยังพบเด็ก 26% ถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ (cyber bullying) 11% เคยเข้าเว็บไซต์ผิดกฎหมาย/อันตราย 7% เล่นพนันออนไลน์ 18% จ่ายเงินเพื่อซื้อกล่องสุ่มในเกม ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการพนัน

และมี 5% เคยลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี เด็กเผชิญภัยออนไลน์จำนวนมาก ทุกฝ่ายต้องช่วยกันปกป้องคุ้มครองเพื่อให้เด็กเข้าถึงสื่อที่ปลอดภัย รวมถึงให้เด็กเข้าถึงช่องทางช่วยเหลือจากภัยต่างๆ ที่ถูกทาง

สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจก่อนล่อลวง

ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรม นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวว่า ความเข้าใจผิดของผู้ใหญ่หลายคนที่มองว่าเด็กถูกข่มขืนต้องผ่านการทำร้ายขัดขืน ทั้งที่เด็กไม่ได้สมยอม แต่จริงๆ แล้วส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมผู้ใหญ่ที่เตรียมการหรือ grooming ด้วยการสร้างความผูกพันธ์เพื่อให้เด็กไว้วางใจจนนำไปสู่การล่วงละเมิด

ขั้นตอนผู้กระทำจะมองหาเลือกเด็กที่ขาดแคลนความรัก หรือกลุ่มเปราะบางเป็นเหยื่อ จากนั้นสร้างความไว้วางใจให้ความรักแก่เด็กรวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง กระทั่งแยกเด็กออกจากผู้ปกครอง จึงเป็นโอกาสและเหตุผลให้อยู่ลำพัง และเริ่มแสดงออกทางเพศกับเด็ก เมื่อผู้กระทำได้ลงมือล่วงละเมิดก็จะบันทึกเป็นวิดีโอ เพื่อใช้ควบคุม หรืออ้างความรักรวมถึงการทวงบุญคุณ

เพื่อให้เด็กอยู่ในการควบคุม บางรายถูกกระทำและปิดเงียบเป็นปี ที่น่าเศร้าผู้กระทำบางรายเป็นครู ทั้งนี้ต้องสร้างความตระหนักถึงปัญหานี้ให้มากที่สุด อย่าให้ปัญหาซุกใต้พรมเพราะจะเข้าทางผู้กระทำ เปลี่ยนบรรทัดฐานสังคมต้องไม่เงียบ และสร้างบุคคลแวดล้อมขัดขวางปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่จะช่วยกันสอดส่องดูแลเพื่อนด้วยกัน

หลอกให้เป็นดารา ขอภาพลับ แบล็กเมล์ ล่วงละเมิดเพศ

พล.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานในคดีล่วงเมิดทางเพศจากภัยออนไลน์ พบมากสุดคือการถูกหลอกให้ไปเป็นดารานางแบบ ด้วยการให้ส่งภาพลับที่ให้เห็นทรวดทรง และนำไปแบล็กเมล์สู่การล่วงละเมิดทางเพศ

นอกจากนี้ยังมีการนำภาพลับส่วนตัวแลกเงิน โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 10 ปีจะถูกหลอกได้ง่าย จากนั้นก็จะถูกข่มขู่เพื่อล่วงละเมิด รวมทั้งยังมีการนำภาพส่วนตัวที่มีกิจกรรมทางเพศกับแฟน และตัวแฟนนำไปเผยแพร่ หรือแม้แต่ซ่างซ่อมโทรศัพท์ที่กู้ภาพลับลูกค้าไปเผยแพร่

ขอบคุณแหล่งที่มา : matichon.com

สามารถอัพเดตข่าวสารเรื่องราวต่างๆได้ที่ : mayfieldscleaners.com